วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รมว.ศึกษาธิการ เผยจัดงบ 3 พันล้าน แจกแท็บเล็ต

รมว.ศึกษาธิการ เผยจัดงบ 3 พันล้าน แจกแท็บเล็ต

รมว.ศึกษาธิการ เตรียมตั้งงบ 3,000 ล้านบาท แจกแท็บเล็ต ย้ำเป็นการแจกให้โรงเรียน และนักเรียนเป็นผู้ใช้ ยังไม่เคาะแจกเมื่อไหร่

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่งเสริมให้เด็กมีคอมพิวเตอร์ใช้ (One Tablet PC Per Child) ว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เตรียมงบประมาณเริ่มต้นไว้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าจัดทำเนื้อหาที่จะบรรจุลงในแท็บเล็ต ส่วนจะมีการดำเนินงานในลักษณะใดนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการจะต้องหารือกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ รวมทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้เตรียมงบประมาณสำหรับจัดซื้อแท็บเล็ตไว้แล้ว 3,000 ล้านบาท แต่หากต้องการทำให้ครอบคลุมเด็กทั้งระบบต้องใช้งบฯ 20,000 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว อีกทั้ง เรื่องที่จะให้ไอซีทีเป็นผู้จัดซื้อหรือจะให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้ประกอบนั้น จะต้องขอฟังความคิดเห็นก่อน แต่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย เพราะหากปล่อยให้ใครดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดการผูกขาดในระบบทันที

สำหรับนโยบายรัฐบาล ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะแจกแท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน ซึ่งก่อนหน้านี้เข้าใจกันว่าจะแจกให้แก่นักเรียนโดยตรงนั้น นายวรวัจน์ กล่าวว่า แท็บเล็ตต้องแจกให้โรงเรียน เพื่อนำไปให้เด็กใช้ได้ฟรี ส่วนจะให้ในระดับใดและให้นำกลับบ้านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อม ความเหมาะสมของพื้นที่ และการบริหารจัดการของโรงเรียนที่อาจจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเด็กสำเร็จการศึกษาแล้วก็ต้องคืนโรงเรียน ส่วนที่ไม่ไห้นักเรียนเป็นเจ้าของโดยตรงเพราะเด็กอาจจะนำไปขายได้ แต่หากให้โรงเรียนก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของทางโรงเรียนเอง

อย่างไรก็ตาม การแจกแท็บเล็ตให้แก่โรงเรียนจะเริ่มได้เมื่อใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการจัดทำเนื้อหา หากทำเสร็จได้เร็วก็จะเริ่มแจกได้ทันที



[26 สิงหาคม] รมว.ศธ.แจงแท็บเล็ต ป.1 เหมือนของเล่นเด็ก

"วรวัจน์" แจงอภิปรายในสภาแจกแท็บเล็ตยึดความพร้อม ครูโรงเรียนไหนพร้อมให้ยกมือขึ้น ส่วนแท็บเล็ตของเด็ก ป.1 เหมือนเป็นของเล่น ไม่ได้ไฮเทค ปฏิเสธไม่ได้ยกเลิกวิทยฐานะครู เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการประเมิน ให้ผู้ปกครองมาประเมินครูแทนทำผลงานเล่มหนา ๆ ด้าน อาจารย์จุฬาฯ ชี้ของจริงทำยาก แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวชี้แจงกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายพาดพิงนโยบายด้านการศึกษา ว่า ดำเนินการไม่เหมาะสม อาทิ นโยบายซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน ฟื้นกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และเรื่องการยกเลิกการประเมินผลงานวิทยฐานะ ว่า สำหรับเรื่องแท็บเล็ตตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาอยู่ว่าจะแจกอย่างไร อาทิ แจกโดยยึดความพร้อมของโรงเรียน ครู และนักเรียน ถ้าโรงเรียนหรือนักเรียนไหนพร้อมก็แจกได้เป็นต้น ทั้งนี้ ตนก็ยังได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอบถามไปยังโรงเรียนทั่วประเทศว่า ใครพร้อมหรือต้องการจะรับแท็บเล็ตบ้าง

รมว.ศธ.กล่าวว่าอีก ส่วนกรณีที่มีการอภิปรายพาดพิงว่าการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 นั้นไม่เหมาะ ตนก็ขอชี้แจงว่าแท็บเล็ตที่จะให้นักเรียนชั้น ป.1 ไม่ได้มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สูง เพราะจะยึดเหมาะสมกับเด็กในวัยนี้เหมือนเป็นของเล่น ส่วนระดับชั้นอื่นก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้นด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูที่ตนจะยกเลิกแล้วให้ผู้ปกครองเข้ามาประเมินข้าราชการครูที่ยื่นขอวิทยฐานะแทนนั้น ก็เป็นเพราะต้องการให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนในการประเมิน ซึ่งจะสามารถบอกผลได้ดีที่สุดกว่ากรรมการที่เป็นใครก็ไม่ทราบและไม่เคยอยู่ ในชุมชนมาก่อน

"การประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่ที่อยากให้ปรับนั้น เน้นประเมินจากผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ที่ออกมา ซึ่งต่อไปข้าราชการครูไม่ต้องทำผลงานเล่มหนา ๆ หรือต้องไปเสียเงินจ้างคนอื่นทำนับแสนบาท เพราะผมจะลดการทำผลงานที่เป็นเอกสารให้น้อยที่สุด เบื้องต้นผมก็ได้มอบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไปพิจารณาเพื่อจัดทำเกณฑ์การประเมินใหม่แล้ว ถึงแม้อาจต้องแก้กฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องก็จะต้องดำเนินการ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ จากการรับฟังความเห็นของข้าราชการครูก็สะท้อนออกมาว่า การทำผลงานวิทยฐานะทำให้ไม่ค่อยมีเวลาในการเรียนการสอน" นายวรวัจน์ กล่าว

นายศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายที่จะให้ผู้ปกครองนักเรียนเป็นผู้ประเมินผลงานวิทยฐานะข้าราชการครูว่า นโยบายดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาครูที่ใช้เวลาสอนไปทุ่มเททำผลงานเพื่อขอวิทยฐานะได้ เพราะครูบางกลุ่มอาจจะใช้ช่องทางดังกล่าวหันไปหาเสียงสนับสนุนจากผู้ปกครองแทน ทั้ง ๆ ที่ควรจะยึดการทุ่มเทในการสอนเป็นหลัก ทั้งนี้ ส่วนของเกณฑ์การประเมินโดยใช้ผู้ปกครองเป็นผู้ประเมินนั้น อาจมีปัญหาเรื่องมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงมีมิติเดียวในการประเมิน ดังนั้น แนวคิดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

"เป็นเรื่องที่ดีที่จะให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนในการประเมินครู แต่น่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมดระบบการประเมินตอนนี้ เพราะปัญหาครูทุ่มเทเรื่องเอกสารผลงานจนละเลยเด็ก ก็ต้องแก้กันให้ตรงจุด อีกทั้งผู้ปกครองบางคนอาจจะมีมุมมองเพียงมิติเดียวคือมองที่บุตรหลานตัวเอง จึงไม่น่าจะเพียงพอในการใช้ประเมิน และนอกจากนี้เรื่องแนวทางในการประเมินต้องตอบโจทย์เรื่องอคติส่วนตัวของผู้ปกครองและปัญหาด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน จึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ"







[24 สิงหาคม] รุมสับแจกแท็บเล็ต ป.1 พัฒนาการไม่ถึง
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล


วงเสวนานักวิชาการรุมสับนโยบายแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1-ป.3 ไม่เหมาะสม พัฒนาการอ่าน-เขียนไม่ถึงขั้น ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ชี้ควรเป็นชั้น ป.4 แทน หนุนให้ใช้การยืมแทนแจก จะได้ประหยัดงบ "อำนวย" ตอกรัฐบาลคงลืมไปว่าเด็ก ป.1 ถือแท็บเล็ตกลับด้านอาจโดนปล้นได้ แนะลงทุนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะดีกว่า หลาย รร.ยังขาดแคลน


เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เครือข่ายนักวิชาการและแผนการจัดการความปลอดภัยในเด็ก ได้จัดเสวนารามาธิบดีเพื่อสุขภาพเด็กไทยเรื่อง "มองรอบด้านเด็กไทยกับไอที" ในหัวข้อนโยบายแจกแท็บเล็ต (One Tablet Per Child) ของรัฐบาล เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็กอายุ 7-8 ขวบหรือไม่

ซึ่งภายในวงเสวนามีผู้เข้าร่วมเสวนากว่า 100 คน โดย รศ.พญ.นิตยา คชภักดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก แห่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่สนับสนุนให้รัฐบาลแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนระดับชั้น ป.1 หรือทั้งช่วงชั้นที่ 1 (ชั้น ป.1-ป.3) เพราะพัฒนาการของเด็กยังไม่ถึง ทั้งทักษะการใช้ภาษาที่ยังไม่คล่อง และการพัฒนาของสมองที่ยังไม่เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

ทั้งนี้ เพราะเด็กในช่วงชั้นดังกล่าวต้องเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติเป็นหลัก อาทิ การออกกำลังกาย และการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าพัฒนาการของเด็กชั้น ป.4 น่าจะเป็นวัยที่เหมาะที่สุดในการได้รับแท็บเล็ต เพราะเป็นวัยที่กำลังเริ่มเรียนรู้ทักษะพื้นฐานได้บ้างแล้ว อาทิ อ่านเขียนคล่องแล้ว ซึ่งเด็กก็จะสนุกกับการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนอีกด้วย

"ไม่ใช่ว่าเด็กชั้น ป.1 จะมีพัฒนาการไม่ถึงจนใช้แท็บเล็ตไม่ได้ แต่เด็กในวัยนี้ควรจะให้จับและดูแท็บเล็ตนิดหน่อยก็พอ เพราะเด็กต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นหลักเพื่อการเจริญเติบโตทั้งสมองและร่างกายไปพร้อมๆ กัน จะได้ไม่มีปัญหาการเจริญเติบโตตามมา ดังนั้น ผมจึงสนับสนุนให้แจกเด็กชั้น ป.4 จะดีกว่า" ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์กล่าว และว่า นอกจากนี้ตนยังเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายยืมแทนแจกแท็บเล็ต และไม่จำเป็นที่จะต้องจัดซื้อให้นักเรียนครบทุกคน เพราะสามารถเรียนร่วมกันได้ เพื่อจะได้นำงบที่เหลือไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ

นายอภิวัฒนเดช ดอนโหน่งชา ประธานสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลใช้นโยบายยืมแทนแจกแท็บเล็ตไปก่อน โดยให้ใช้ในเวลาเรียนเท่านั้น พอเวลากลับบ้านก็ต้องคืนโรงเรียน เพื่อเด็กจะได้เกิดความอยากมาโรงเรียน เพราะต้องการอยากเรียนรู้เทคโนโลยี นอกจากนั้นยังช่วยป้องกันเรื่องการสูญหายด้วย เบื้องต้นอาจเป็นโครงการระยะสั้นประมาณ 1 ปีก็ได้ แล้วค่อยประเมินว่าได้ผลดีหรือไม่ ทั้งนี้ สำหรับการจัดซื้อก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแจกให้นักเรียนทุกคนทุกชั้น เพราะแท็บเล็ตอาจเรียนร่วมกันได้ อาทิ เรียนวิชาที่ใช้แท็บเล็ตเสร็จก็คืนโรงเรียนให้เพื่อนห้องอื่น หรือนักเรียนชั้นอื่นใช้ต่อได้ เพื่อจะได้ประหยัดงบ เพราะหากว่าลงทุนไปแล้วไม่ได้ผลดีอย่างที่คิด ก็จะได้ไม่เสียงบมากอย่างเปล่าประโยชน์

วันเดียวกัน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า นโยบายเรื่องนี้ยังต้องมีการทบทวนในหลายด้านประกอบกัน อาทิ ทบทวนว่าตั้งแต่มีการใช้เทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาประกอบการเรียนการสอนแล้ว นักเรียนมีพัฒนาการด้านการเรียนดีขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ เท่าที่ทราบผลการเรียนของนักเรียนในภาพรวมก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ยังใช้เครื่องมือผิดประเภท รวมถึงใช้เฉพาะด้านมืดหรือด้านลบของอุปกรณ์ไอที

"แท็บเล็ตอาจจะเป็นดาบสองคม ที่คมทั้งสองด้านพุ่งเข้าหาตัวเด็ก อาทิ ในบางพื้นที่ในต่างจังหวัด หากแจกเด็กชั้น ป.1 ถือกลับบ้าน เด็กคนนั้นจะมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าติดตัว อาจจะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่แทบไม่ต้องใช้กำลังบังคับเด็กกลุ่มนี้เลย ซึ่งรัฐบาลต้องคิดถึงนโยบายนี้ในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่จะขอบคุณยิ่งกว่า หากออกมาบอกว่านโยบายแจกแท็บเล็ตเป็นเรื่องที่พลั้งปากไป และหันไปพัฒนาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะให้ครบทุกโรงเรียนก่อนน่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า" นายอำนวย กล่าว



[25 กรกฎาคม] สสวท. แนะแจกแท็บเล็ต ยกเว้นเด็กบ้านรวย


สสวท. แนะไม่ต้องแจกแท็บเล็ตให้เด็กทุกคน บ้านรวยไม่ต้อง และต้องให้มีคนดูแลเด็กใกล้ชิดด้วย

นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แสดงทัศนะต่อนโยบายแจกแท็บเล็ตของพรรคเพื่อไทย ว่า การแจกแท็บเล็ตกับคนทั่วประเทศ ควรต้องดูระดับการศึกษา ความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม เด็กในระดับมัธยมศึกษาจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง แต่เด็กในระดับประถมศึกษา ไม่ควรให้เข้าเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญครูต้องมีความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีเป็นอย่างดีและไม่จำเป็นต้องแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนทั้งหมด ควรเลือกเฉพาะเด็กที่ผู้ปกครองไม่สามารถหาเงินมาซื้อแท็บเล็ตได้เท่านั้น

สำหรับหลักสูตรการศึกษาคอมพิวเตอร์นั้น ต้องเอื้ออำนวยให้ครูทุกคนศึกษาในเรื่องของการเขียนโปรแกรม
คอมพิวเตอร์ และส่งเสริมเยาวชนให้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ต้องจัดอบรมครูในเรื่องนั้น ๆ ด้วย เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องของการศึกษา โดยเริ่มจากสถานศึกษาต่าง ๆ เปลี่ยนระบบเวลาการเรียนการสอนใหม่

นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ล่าสุดจัดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยเป้าหมายสำคัญของการแข่งขันก็เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์และส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงการเรียนการสอน ทั้งนี้ เพื่อสร้างโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง เพื่อรองรับความจำเป็นในการพัฒนาประเทศซึ่งยังขาดแคลนคนเก่งทางด้านนี้


ที่มา
http://education.kapook.com/view28399.html