วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เพิ่มเงินพิเศษดึงคนเก่งเป็นครูบวกเพิ่ม1หมื่น/ด.-มอบคุรุสภาจัดสอบวิชาชีพ

เพิ่มเงินพิเศษดึงคนเก่งเป็นครูบวกเพิ่ม1หมื่น/ด.-มอบคุรุสภาจัดสอบวิชาชีพ

“ชินวรณ์" เดินหน้าปฏิรูปรอบสอง ดึงคนเก่งเรียนครู ให้ค่าตอบแทนพิเศษคนละ 10,000บาท/เดือน พร้อมมอบคุรุสภาหาแนวทางจัดสอบครูเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับ วิชาชีพอื่น เผยเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวข้อง 3 ฉบับเข้า ครม.เรียบร้อยแล้ว

นายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้ผลักดันนโยบายปฎิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ในส่วนของการพัฒนาครู ได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบให้เสนอร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินวิทยฐานะ.... เพื่อบรรจุเป็นวาระเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะเร่งดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้ และจะเร่งเดินหน้าเรื่องนี้ทันทีหลังจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภาฯ

“ผมยังมีนโยบายพัฒนาวิชาชีพครูโดยจะ จูงใจคนเก่งมาเรียนครู ร้อยละ 10 โดยจัดโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่หลักสูตร 5 ปี จำนวน 4,000 คน เริ่มปี 2553 -2556 เมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นผู้ช่วยครู 2 ปีจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษคนละ 10,000 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับแพทย์ รวมทั้งมอบให้ครุสภาหาแนวทางจัดสอบครู เพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพเหมือนกับผู้ประกอบวิชาชีพด้านวิศวะ กฎหมาย และบัญชี ”

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้เสนอร่างกฎหมาย 3 ฉบับบรรจุเป็นวาระเสนอคณะรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนพัฒนาวิชาชีพครู โดยกองทุนนี้จะมีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆเข้ามาบริหาร จัดการ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องที่เป็นวิกฤตของครู เช่น การปฎิรูปการเรียนรู้เพื่อสอนให้เด็กคิดเป็น การให้ครูได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อพัฒนาให้ครูเป็นครูของศิษย์อย่างแท้จริง โดยจะเสนองบประมาณปี 2554 ของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 500 ล้านบาท 2. ร่างพระราชกฤษฎีกากองทุนเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) จะสนับสนุนงบประมาณ 500 ล้านบาท ทั้งนี้ เบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการ จะลงนามความร่วมมือกับ กทช. เพื่อขอนำงบฯ ส่วนหนึ่งมาใช้ดำเนินงานก่อน โดย ศธ.จะออกเป็นระเบียบรองรับ 3. ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยจะนำสื่อและเทคโนโลยีด้านการศึกษาของ ศธ.เช่น สถานีโทรทัศน์ เพื่อการศึกษา(อีทีวี) ของสำนักงานปลัด ศธ. อาร์เรดิโอ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และโครงการพัฒนาเครือข่ายยูนิเน็ต ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มารวมกันอยู่ในสถาบันฯนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัด ศธ. เพื่อ สนับสนุนการดำเนินงานของ 5 องค์กรหลักศธ.ได้คล่องตัว โดยงบฯดำเนินการของสถาบันฯนี้ จะนำงบประมาณดำเนินการของแต่ละหน่วยงานมาใช้ดำเนินการ



ที่มา - ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000036668