วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การประเมินผลการเรียนรู้โดยการสังเกตการณ์

การประเมินผลการเรียนรู้โดยการสังเกตการณ์
โดย รศ.ดร.บุญชม ศรีสะอาด

การเรียนรู้ของมนุษย์อาศัยการสังเกตการณ์ (Observation) เป็นอันมาก มนุษย์ใช้การสังเกตการณ์ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างมากมาย การสังเกตการณ์ช่วยให้ได้พบความจริงได้ความรู้ เกิดความเข้าใจเกิดความกระจ่างแจ้ง ช่วยให้สามารถพัฒนาความรู้วิชาการต่าง ๆ ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตจะเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสังเกต เรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากการสังเกตการณ์ ทั้งในขณะดำเนินชีวิตครอบครัวในขณะปฏิบัติหน้าที่การงาน

การสังเกตการณ์เป็นเทคนิคหนึ่งของการประเมินผลการเรียนของผู้เรียน สามารถทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ อาจไม่มีรูปแบบที่ตายตัว อาจเป็นแบบมีโครงสร้างหรือไม่มีโครงสร้างก็ได้ จึงจัดว่า เป็นการประเมินผลอย่างไม่เป็นทางการ (Informal) การสังเกตการณ์ช่วยให้ทราบผลของการเรียนการสอนในทันที และมีจุดเด่นที่สำคัญ คือช่วยให้ผู้สอนได้แก้ไขสถานการณ์ ปรับปรุงกิจกรรม วิธีสอนได้อย่างทันการช่วยให้การสอนมีคุณภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น เป็นการเสริมสานการวัดผลกับการเรียนการสอนตามแนวคิดที่เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน ผู้สอนจะสามารถทราบผลการเรียนการสอนโดยสังเกตการณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ การปฏิบัติ (วิธีการ) และผลงาน เป็นสำคัญ ดังจะกล่าวแต่ละด้านตามลำดับ

การสังเกตการณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนจะต้องสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน อยู่ตลอดเวลา โดยสังเกตการณ์ฟังคำบรรยาย อธิบาย สาธิต การทำกิจกรรมการเรียนต่าง ๆ ความร่วมมือกับคนอื่น ๆ นิสัย ค่านิยม ฯลฯ ในการสังเกตการณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้น เมื่อผู้สอนสอนนักเรียนเป็นชั้น (สอนทั้งห้อง) อย่างต่อเนื่องก็ต้องสังเกตให้ครบคน ไม่ได้สังเกตเฉพาะคนใดคนหนึ่งหรือเพียงสองสามคน ขณะที่พูดก็ใช้สายตามองไปยังผู้เรียน ถ้าพบพฤติกรรมต่อไปนี้บ่งชี้ถึงว่าการสอนครั้งนั้นไม่ได้ผล ผู้เรียนนั่งหลับ คุยกัน เหม่อลอยหรือคิดในเรื่องอื่น การทำกิจกรรมอื่น ฯลฯ

การที่ผู้เรียนนั่งหลับ แสดงว่าเขาไม่มีความสนใจในการเรียน แต่จะพักผ่อน ไม่รับรู้การเรียนการสอนใด ๆ การสอนครั้งนั้นไม่บังเกิดผลสำหรับนักเรียนคนนั้น ถ้ามีหลายคนชี้ถึงว่าการสอนขาดคุณภาพมาก ควรใช้วิธีป้องกัน เช่น สอนโดยใช้เทคนิคการสอนหลาย ๆ วิธี ใช้อารมณ์ขันช่วย ใช้สื่อการสอนและอุปกรณ์ที่ดึงดูดความสนใจ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้เข้าใจ แจ่มแจ้ง ผู้สอนควรใช้สายตามองให้ผู้ที่จะหลับรู้สึกว่าอยู่ในสายตาของผู้สอน ใช้คำถามเพื่อให้เขาได้คิดตอบ

การคุยกัน จะต้องเพ่งความคิดไปยังเรื่องที่พูดคุย จึงสามารถรู้เรื่องกันได้ เมื่อเพ่งความคิดไปยังเรื่องที่คุยกันก็จะไม่รับรู้เรื่องที่ผู้สอนกำลังสอน ซึ่งนอกจากชี้ถึงว่าการสอนไม่น่าได้ผลแล้ว ถ้าคุยกันด้วยเสียงดังจะรบกวนสมาธิของคนอื่น ถ้าคุยกันนานผู้สอนจะสอนลำบาก ถ้าสังเกตว่ามีการคุยกันหลาย ๆ คู่ ผู้สอนต้องรีบแก้ไขโดยด่วน อย่างไรก็ตามถ้าคุยกันเบา ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ และเป็นเรื่องที่อยู่ในเนื้อหาสาระที่กำลังเรียนหรือเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ควรป้องกันไม่ให้มีการคุยกันนอกเรื่องโดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่นเดียวกับกรณีป้องกันผู้เรียนนั่งหลับ

การเหม่อลอยหรือคิดในเรื่องอื่น แสดงว่าผู้เรียนสนใจในเรื่องอื่นมากกว่าหรือให้ความสำคัญแก่เรื่องอื่นมากกว่า ซึ่งชี้ถึงว่าการเรียนการสอนในขณะนั้นไม่บรรลุผล ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเป็นเนื้อหาและ/หรือวิธีการสอนที่น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ ผู้เรียนรู้เรื่องนั้นมาแล้ว และอาจมีเรื่องที่สนใจมากกว่าหรือจำเป็นต่อการคิดหาคำตอบ คิดแก้ปัญหา ฯลฯ มากกว่า ถ้าพบพฤติกรรม ดังกล่าว ผู้สอนควรใช้วิธีป้องกันเช่นเดียวกับกรณีป้องกันผู้เรียนนั่งหลับ

การทำกิจกรรมอื่นในเวลาเรียน เป็นการใช้เวลาไม่เหมาะสม แสดงว่านอกจากผู้เรียนไม่สนใจในการเรียนเรื่องนั้นแล้ว ยังเห็นว่าควรใช้เวลานั้นทำกิจกรรมอื่นที่สำคัญและจำเป็นมากกว่านับเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ไม่เกิดผลดีต่อตนเองและเพื่อนร่วมชั้น เวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากเรื่องที่เรียน ควรทำในเวลาว่างเช่น เลิกเรียน ก่อนเรียน หรือทำกิจกรรมนั้นในวันอื่นหรือในเวลาที่กำหนดไว้สำหรับกิจกรรมนั้น ๆ เป็นต้น ควรหาวิธีป้องกันเช่นเดียวกับกรณีป้องกันผู้เรียนนั่งหลับ และสร้างบทเรียนให้น่าสนใจและสอดคล้องกับธรรมชาติและแบบการเรียนรู้ (Learning Styles) ของผู้เรียน

การสังเกตการปฏิบัติ ในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ อย่างมีคุณภาพย่อมมีเทคนิคหรือวิธีการปฏิบัติโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตามต้องการ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกวิธีหรือไม่เหมาะสมตามลักษณะเฉพาะของกิจกรรมนั้นก็จะทำให้ได้ผลที่ด้อยกว่า ขาดความสมบูรณ์ไป การประเมินผลโดยการสังเกตการปฏิบัติเฉพาะอย่างว่าใช้วิธีใดจึงจะเหมาะสม ถูกต้อง และได้ผลดีมากกว่า จะช่วยให้สามารถรีบแก้ไขปรับปรุงจุดบกพร่องหรือความผิดพลาดต่าง ๆ แต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะปล่อยให้กระทำนั้น ๆ ติดเป็นนิสัยที่ยากแก่การแก้ไข ทั้งนี้ก่อนการปฏิบัติจะต้องให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างแจ่มชัดถึงวิธีการที่ถูกต้อง โดยอาจใช้การสาธิตให้ดู แล้วให้ปฏิบัติตาม มีการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) จนสังเกตพบว่าผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องเหมาะสม ถ้ามีทักษะด้วยก็ยิ่งดี ดังจะเห็นได้ชัดจากนักกีฬาทุกประเภท นักดนตรีทุกประเภท ฯลฯ ที่มีความสามารถสูง นักวัดผลบางคนให้ความสำคัญกับวิธีการมาก เพราะเชื่อว่าการใช้วิธีการที่ดี ที่เหมาะสม ย่อมนำไปสู่ผลที่ต้องการ

ในด้านวิธีการซึ่งควรส่งเสริมสนับสนุนก็คือ การริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เรียน ผู้เรียนที่คิดค้นวิธีการใหม่ซึ่งสามารถให้ผลที่ดีเท่าหรือดีกว่าวิธีการเดิมได้ หรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ ควรได้รับการยกย่อง ชมเชย จากทั้งครูผู้สอน เพื่อนร่วมชั้นเรียน และชุมชน

การสังเกตผลงาน ผลงานหรือผลผลิต (Product) เป็นเป้าหมายปลายทางที่สำคัญของการเรียนการสอนเท่า ๆ กับวิธีการหรือสำคัญยิ่งกว่า บางคนเห็นว่าจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ได้ที่เป็นวิธีการทางบวก วิธีการที่สร้างสรรค์ขอให้ได้ผลที่ปรารถนา ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่สั่งสอน ที่นิยมใช้กันทั่วไปการสังเกตผลงานเป็นการพิจารณา ประเมินผลงานที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยนำผลงานไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ ซึ่งอาจพิจารณาภาพรวมให้คะแนนหรือจัดอันดับความสำคัญจากภาพรวมทั้งหมด หรือพิจารณาในมิติหรือด้านต่าง ๆ เช่น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความประณีต ความคงทน ความกลมกลืน ความเป็นเอกภาพ ความสมดุลย์ วิสัยทัศน์กว้างไกล ความเที่ยงตรง ฯลฯ

ผู้สอนควรตระหนักว่า ถ้าผู้เรียนได้ทำกิจกรรมการเรียนอย่างจริงจัง และต่อเนื่องก็ย่อมเอื้อต่อการบรรลุผลในการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนมีมากมายหลายกิจกรรม ที่สำคัญได้แก่

1. การพูด อ่าน เขียน ท่องจำในเรื่องที่เรียน
2. การซักถาม การตอบคำถาม
3. การอภิปราย ออกความเห็น
4. การทำแบบฝึกหัด
5. การผลิตผลงานต่าง ๆ เช่น วาดภาพ ปั้น แกะสลัก ประดิษฐ์ แต่งโคลง กลอน เขียนบทความ ฯลฯ
6. การฝึกปฏิบัติ เช่น นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา เล่นดนตรี ฯลฯ
ฯลฯ

ดังนั้นควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมการเรียนที่กล่าวมา และใช้การสังเกตการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของครู