วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จุดมุ่งหมายทั่วไปและธรรมชาติของการวิจัย

จุดมุ่งหมายทั่วไปของการวิจัย

ได้กล่าวแล้วว่า การวิจัยเป็นกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ความจริงตามระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ในการค้นคว้าหาความรู้ความจริงของนักวิจัยนั้นก็เพื่อจุดมุ่งหมายดังต่อไปนี้

1. เพื่อใช้ในการทำนาย ผลที่ได้จากการวิจัยสามารถนำไปใช้พยากรณ์หรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือมีแนวโน้มอย่างไร ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า เช่น การวิจัยเรื่องการสำรวจราคาสินค้าสามารถนำผลมาทำนายได้ว่า แนวโน้มของราคาสินค้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร และยังสามารถทำนายสภาพเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อีกด้วย

2. เพื่อใช้ในการอธิบาย จุดมุ่งหมายของการวิจัยข้อนี้ก็เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้อธิบายปัญหาหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุว่า สิ่งใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลหรือสิ่งใดเป็นผลที่ทำให้เกิดสาเหตุนั้น ๆ เช่น การวิจัยหาสาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนตกต่ำ ผลที่ได้จากการวิจัยจะสามารถนำมาอธิบายได้ว่า มีอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนตกต่ำ

3. เพื่อใช้ในการบรรยาย เป็นการมุ่งนำผลที่ได้จากการวิจัยไปใช้บรรยายสภาพและลักษณะของปัญหาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสภาพและลักษณะอย่างไร เช่น การวิจัยเพื่อการสำรวจความต้องการของนิสิตที่มีต่อการจัดบริการของมหาวิทยาลัย การวิจัยในลักษณะนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยมาบรรยายสภาพและลักษณะความต้องการของนิสิต ซึ่งการนำผลที่ได้จากการวิจัยมาบรรยายจะทำได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงมากกว่าการบรรยายสภาพและลักษณะของปัญหาที่เกิดจากความคิดเห็นหรือการวิเคราะห์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

4. เพื่อใช้ในการควบคุม จุดมุ่งหมายการวิจัยประการนี้ก็เพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยไปวางแผนหรือกำหนดวิธีการในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การวิจัยหาสาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนตกต่ำ เมื่อพบสาเหตุก็สามารถหาทางควบคุมหรือป้องกันได้

5. เพื่อใช้ในการพัฒนา ผลการวิจัยอาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาได้ เช่น การพัฒนาบุคคล พัฒนาระบบการทำงาน พัฒนาอาคารสถานที่ ฯลฯ ดังผลการวิจัยที่พบว่า อาจารย์ส่วนใหญ่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมโดยวิธีบรรยายมากกว่าการทดลอง ดังนั้นอาจารย์และผู้บริหารของโรงเรียนก็ควรที่จะได้หาทางปรับปรุงวิธีการสอนให้ถูกต้องและสอดคล้องกับธรรมชาติของวิชามากขึ้น

ถ้าจะกล่าวถึงจุดมุ่งหมายทั่วไปของการวิจัยอย่างกว้าง ๆ แล้วอาจกล่าวได้ว่า ในการทำการวิจัยใด ๆ ก็ตาม ผู้ทำการวิจัยจะมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประการนี้คือ

1. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น อยากทราบเหตุผลและปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบ สิ่งใดที่พอรู้อยู่บ้างก็ทำให้รู้และเข้าใจดียิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มพูนวิทยาการให้กว้างขวางลึกซึ้ง

2. เพื่อนำผลไปประยุกต์หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ จุดมุ่งหมายของการวิจัยนี้เกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาที่จะต้องค้นคว้าหาความจริงเพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยไปแก้ปัญหา หรือประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

จุดมุ่งหมายของการวิจัยทั้ง 2 ประการนี้มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายประการแรกมุ่งวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ทำให้ค้นพบกฎหรือทฤษฎี ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามจุดมุ่งหมายของการวิจัยในข้อ 2

ธรรมชาติของการวิจัย

เนื่องจากการวิจัยยึดถือและปฏิบัติตามลำดับขั้นของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้การวิจัยมีลักษณะและธรรมชาติดังนี้

1. การวิจัยมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโดยตรงหรือเป็นการตรวจสอบสมมติฐาน โดยทั่วไปแล้วการวิจัยมักอยู่ในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่สองตัวขึ้นไป โดยที่ตัวแปรหนึ่งเป็นเหตุและอีกตัวแปรหนึ่งเป็นผล ซึ่งจะชี้ให้ทราบถึงวิธีตรวจสอบได้ ในทางปฏิบัติปัญหาบางอย่างเราไม่สามารถแก้ได้ด้วยการวิจัยหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เช่น ปัญหาทางไสยศาสตร์ จึงไม่ถือว่าเป็นงานวิจัย

2. การวิจัยจะต้องมีการวางแผนด้วยความระมัดระวังและมีระบบโดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ในเชิงเหตุผล แต่ถ้าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ไม่เป็นระบบ เช่น การลองผิดลองถูกหรือการเดาสุ่ม โอกาสที่จะได้ผลการวิจัยที่ถูกต้องย่อมมีน้อย จึงไม่ถือว่ากิจกรรมเช่นนั้นเป็นงานวิจัย

3. การวิจัยจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลใหม่ สำหรับจุดมุ่งหมายที่กำหนดขึ้นใหม่ หรืออาจใช้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ใหม่แตกต่างไปจากจุดประสงค์เดิมของแหล่งข้อมูล

4. การวิจัยมุ่งที่จะหาข้อเท็จจริงเพื่อพัฒนาทฤษฎี กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการทำนายหรือสรุปครอบคลุมไปยังเรื่องอื่น ๆ

5. การวิจัยต้องอาศัยผู้วิจัยที่มีความรู้ความสามารถในปัญหาที่จะทำการวิจัย ถ้าผู้วิจัยยังไม่เชี่ยวชาญพอก็ต้องค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน นอกจากนี้นักวิจัยจะต้องมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับระเบียบวิธีในการวิจัย ตลอดจนเข้าใจวิธีการวิเคราะห์ปัญหานั้นด้วย

6. การวิจัยที่ดีจะต้องมีเครื่องมือและวิธีการในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้ เนื่องจากนักวิจัยใช้ข้อมูลในการทดสอบสมมติฐานต่าง ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยจะต้องมีความเข้าใจในการใช้เครื่องมือ (Research tools) ให้ถูกต้อง เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ แบบสอบถาม เป็นต้น

7. การวิจัยจะต้องเป็นกระบวนการที่ใช้เหตุผลโดยตั้งอยู่บนรากฐานของตรรกศาสตร์ การเก็บรวบรวมข้อมูลและการสรุปผลต้องปราศจากอคติ คือเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรให้ความรู้สึกหรือความคิดเห็นส่วนตัวเข้ามามีอิทธิพลต่อการสรุปผลการวิจัย เพื่อให้ผลที่ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง

8. การวิจัยต้องอาศัยความอดทนและความพยายามของผู้วิจัย โดยเฉพาะในการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือการติดตามผล

9. การวิจัยต้องอาศัยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของผู้วิจัย โดยเฉพาะการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสังคม จิตวิทยา หรือการศึกษา เช่น การวิจัยเพื่อปฏิรูปการเรียนการสอน หรือการวิจัยที่ขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณี ผู้วิจัยจะต้องมีความก้าที่จะเสนอผลการวิจัยนั้น

10. การวิจัยจะต้องมีการบันทึก และรายงานผลอย่างละเอียดและระมัดระวัง ต้องนิยามคำศัพท์และคำสำคัญต่าง ๆ ให้ชัดเจน ระบุขอบเขตของการวิจัย ข้อตกลงเบื้องต้น ฯลฯ ตลอดจนรายงานผลด้วยความซื่อสัตย์ และการเสนอรายงานผลการวิจัยจะต้องทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ดังนั้นจึงมีการเสนอตัวเลขและรายละเอียดที่สำคัญในตาราง

จาก เอกสารชุดนี้นำมาจาก เอกสารประกอบคำสอนเรื่อง "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย" โดย รองศาสตราจารย์นิภา ศรีไพโรจน์
http://www.watpon.com/Elearning/res6.htm