วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จิตวิทยาการเรียนรู้ภาษา

จิตวิทยาการเรียนรู้ภาษา


Piaget เชื่อว่าพัฒนาการของเด็กนั้นจะเกิดขึ้นตามลำดับขั้น จะไม่สามารถพัฒนาข้ามขั้นได้ เด็กจะสามารถพัฒนาสติปัญญา ได้จากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับโลกภายนอก ซึ่งกระบวนการสติปัญญาของบุคคลจะพัฒนาตามขั้นตอนต่อไปนี้ (อ้างใน กานต์ รัตนพันธ์. 2532 : 22 – 23)


ระยะที่หนึ่ง แรกเกิด จนถึง 2 ขวบ เด็กจะเรียนรู้โดยการสัมผัส
ระยะที่สอง อายุ 2 – 7 ขวบ เด็กเริ่มจัดกระทำกับสภาพแวดล้อม โดยใช้สัญลักษณ์ เด็กเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับวัตถุ รู้จักสิ่งที่เป็นตัวแทน รู้จักคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เริ่มเรียนรู้ภาษาพูดและเข้าใจความหมาย ชอบลองผิดลองถูก สามารถแยกแยะสิ่งของได้ แต่ไม่สามารถบอกคุณสมบัติได้
ระยะที่ 3 อายุ 7 – 11 ขวบ เด็กมีการพัฒนาโครงสร้างทางสติปัญญาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
ระยะที่ 4 อายุ 11 ปีขึ้นไป เป็นระยะที่เด็กมีความเข้าใจ ทดลองใช้เหตุผล เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้น คาดคะเนเหตุการณ์จากประสบการณ์และความคิดเห็น

Piaget and Inhelde (อ้างใน ประภาพันธ์ นิลอรุณ. 2530 : 27) กล่าวไว้ว่า เด็กอายุ 2 – 4 ปี จะพัฒนาการเรียนรู้คำมากขึ้นตามลำดับ มีลักษณะการพูดคุยโดยใช้การสื่อสารแบบสังคม (Social Communication) แต่เด็กจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง คือ เด็กจะพูดกับตนเอง ซึ่งเรียกว่า การพูดคนเดียวแบบรวมหมู่ (Collection Monologues) เด็กจะมีทัศนะต่าง ๆ จากการมองเห็นของตัวเอง และจะเป็นการยากที่จะให้เด็กยอมรับสิ่งต่าง ๆ จากภาพที่เห็น เด็กไม่เข้าใจคำพูดของผู้อื่น ในช่วง 5 – 6 ปี เด็กก้าวเข้าสู่ขั้นการคิดแบบหยั่งรู้ (Intuitive) ซึ่งเป็นการคิดโดยอาศัยการรับรู้ คือ การมองเห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วบอกว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร การหยั่งเห็นของเด็ก เด็กจะก้าวหน้าไปสู่การแยกแยะ เด็กเกือบจะไปถึงการรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล

พัฒนาพร สุทธิยานุช (อ้างใน ประภาพันธ์ นิลอรุณ. 2530 : 28 – 29) ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางภาษาว่า มนุษย์มีขั้นตอนในการใช้ภาษาติดต่อสื่อสาร ซึ่งมีพัฒนาการดังนี้

1. อายุแรกเกิด – 1 ปี เด็กเริ่มส่งเสียงร้อง การโต้ตอบ อาจมีหรือไม่มีความหมายก็ได้ เริ่มเรียนคำง่ายใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ บางครั้งเล่นเสียงเพื่อความเข้าใจของตนเองเท่านั้น แต่ไม่มีความหมายสำหรับผู้อื่น

2. อายุ 1 – 5 ปี มีการพัฒนาภาษาพูดในระยะเริ่มแรก (Early Linguistic Development) เริ่มใช้ภาษาพูดเป็นประโยคง่าย ๆ เช่น แม่มา พ่อทำงาน จากการวิจัยปรากฏว่า เมื่อเด็กเริ่มพูดมักพูดเป็นคำนามก่อน เช่น แมว หมา นม ต่อมาจึงเป็นคำกริยา

3. อายุ 5 – 11 ปี เป็นการพัฒนาการพูดในระยะหลัง ( Later Linguistic Development) ระยะนี้เด็กเริ่มเรียนคำศัพท์ การอ่านความหมาย เริ่มสนใจไวยากรณ์ เริ่มใช้ภาษาพูดในลักษณะรูปประโยคที่สมบูรณ์ และเริ่มเข้าใจคำและความหมายของคำมากขึ้น

4. อายุ 11 ปีขึ้นไป เป็นการพัฒนาการสร้างประโยค (Development of Syntax) เด็กเริ่มศึกษาไวยากรณ์อย่างแท้จริง และสามารถใช้ภาษาได้ดียิ่งขึ้น

ศรียา นิยมธรรม (2519 : 47) การใช้ภาษาสื่อความหมายซึ่งกันและกันได้นั้น มีการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นตามทฤษฎีต่อไปนี้

1. ทฤษฎีการเลียนแบบ (The Imitation Theory) ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเลียนแบบในการพัฒนาภาษาอย่างละเอียด ทฤษฎีนี้เชื่อว่า พัฒนาการทางภาษานั้นเกิดจากการเลียนแบบ ซึ่งอาจเกิดจากการมองเห็นหรือการได้ยินเสียง

2. ทฤษฎีการเสริมแรง (Reinforcement Theory) ทฤษฎีนี้อาศัยพื้นฐานและหลักการจากทฤษฎีการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าพฤติกรรมทั้งหลายถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยเงื่อนไขว่า หากเด็กได้รับรางวัลหรือได้รับการส่งเสริมกำลังใจ เด็กจะพูดมากขึ้น

3. ทฤษฎีการรับรู้ (Motor Theory of Perception) ทฤษฎีนี้เชื่อว่า เด็กเรียนรู้ภาษาโดยการรับรู้ทางการฟัง เด็กจะพูดซ้ำกับตนเอง และหัดเปล่งเสียงโดยอาศัยการอ่านริมฝีปาก ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้คำ

4. ทฤษฎีความบังเอิญจากการเล่นเสียง (Bubbling Buck) Thorndike ได้อธิบายว่า เมื่อเด็กเล่นเสียงอยู่นั้น เผอิญมีบางเสียงไปคล้ายกับเสียงที่มีความหมายในภาษาพูด พ่อแม่จึงให้การเสริมแรงทันที ด้วยวิธีนี้เด็กจึงมีพัฒนาการทางภาษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

กระบวนการเรียนรู้ภาษาพูดของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งสามารถใช้ภาษาในการสื่อความหมายได้นั้น ศรีเรือน แก้วกังวาน (2530 : 16) ได้กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้ภาษาตามลำดับดังนี้

1. การเลียนแบบ (Imitation) เป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้ภาษา เพราะเป็นขั้นที่เด็กเลียนเสียงของคำ และพูดตามเสียงที่ได้ยิน

2. การเอาอย่าง (Identification) เด็กมีการเลียนแบบการออกเสียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะเลียนแบบท่าทาง นิสัยใจคอจากบุคคลตามเสียงที่ได้ยินด้วย

3. การเลียนแบบพฤติกรรมตอบสนองพร้อมกับสิ่งเร้าหลายตัว (Multiple Response) เป็นพฤติกรรมตอบสนองสิ่งเร้าที่เด็กพยายามทำตาม โดยลองใช้อวัยวะการเปล่งเสียงต่าง ๆ นั้น ให้ทำงานร่วมกัน ได้แก่ ส่วนสมองที่รับรู้ มองเห็น ได้ยิน ส่วนที่สะสมความจำ ควบคุมริมฝีปาก สีหน้า ท่าทาง และสายตา

4. การเรียนรู้โดยสัมพันธ์กับสภาวะ (Association Learning) เด็กเรียนรู้คำและความหมายโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างเสียงและสิ่งของหรือพฤติกรรม เช่น เด็กเรียนรู้คำว่า ตุ๊กตา เมื่อแม่ยื่นตุ๊กตาให้แล้วบอกว่า “ตุ๊กตา” เด็กเรียนรู้ได้จากการเชื่อมโยงเสียงและสิ่งของเข้าด้วยกัน

5. การเรียนรู้แบบสอบถาม (Question - Answering) เมื่อได้เรียนรู้ภาษาไปบ้างแล้ว เด็กจะเกิดความคิดอย่างมีเหตุผลขึ้น ความสงสัยและความอยากรู้ อยากเห็น ทำให้เด็กชอบใช้คำถาม การตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น โดยการตอบคำถาม จะช่วยให้พัฒนาการทางภาษาของเด็กดีขึ้น

6. การลองผิดลองถูก (Trial and Error) ช่วงนี้เป็นช่วงลองปฏิบัติ อาจจะถูกบ้าง ผิดบ้าง การเร้าใจและการชมเชยเมื่อเด็กออกเสียงได้ถูกต้อง จะทำให้เด็กมั่นใจ และช่วยให้ภาษาพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น


ที่มา
http://www.kroobannok.com/21344